หนู

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนู

หนู เป็นสัตว์ฟันแทะประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะเด่นชัดคือมีฟันคู่หน้าทั้งบนและล่าง 2 คู่ ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษและคมมีลักษณะโค้งยื่น เพื่อใช้สำหรับกัดหรือแทะสิ่งต่างๆ เพื่อให้ฟันหน้าซึ่งสามารถเจริญยาวได้ตลอดชีวิตของมัน มีขนาดสั้นพอเหมาะและคมอยู่เสมอ

หนู มีความสำคัญ ทั้งทางด้านสาธารณสุข และการเกษตรทั้งนี้ เพราะหนูเป็นสัตว์แทะ ที่มีคุณสมบัติ ทางด้านชีววิทยาในการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมสภาพต่างๆ ภายในบ้านได้เป็นอย่างดี ลักษณะนิสัยของ หนู ชอบการกัดทำลายวัสดุ สิ่งของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นประจำ เช่น ตู้ โต๊ะ เพดานบ้าน สายไฟ สายโทรศัพท์ สายคอมพิวเตอร์ ท่อน้ำ ผ้าม่าน สบู่ เครื่องประดับต่างๆ ตามถนน คันคูน้ำ คันนา หนู ก็จะขุดรูอาศัย เป็นผลให้เกิดการชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้ ทำให้ต้องเสียเงินซ่อมแซมอยู่เสมอ

ด้านการเกษตรนั้นส่วนใหญ่ก็เพื่อดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไป หากบ้านใดมีหนูย่อมมีความเสียหายจากการทำลายของ หนู ติดตามมา นอกจากผลเสียหายที่เกิดจากการกัดทำลายของ หนู ทำให้เสียหายด้านการเกษตรและเศรษฐกิจแล้ว ประกอบกับพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของมันทำให้มันเป็นตัวการสำคัญที่นำโรคต่างๆ มาสู่คนได้ ดังนั้น จะศึกษาเรื่อง หนู ที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในทางสาธารณสุขและการเกษตรเท่านั้น

หนูที่มีความสำคัญทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะหนูที่อาศัยทำรังและหากินอยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ มี 4 ชนิด ซึ่งน่าจะศึกษาเรื่องราวของแต่ละชนิด เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมและป้องกันต่อไปนี้

หนูนอร์เวย์ (Rattus Norvegicus)

หนูนอร์เวย์ (Rattus Norvegicus) บางที่เรียกหนูขยะ หนูท่อ หนูสีน้ำตาล หนูชนิดนี้เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูล มีน้ำหนักตัว 300 – 350 กรัม บางตัวอาจมีน้ำหนักถึง 400 กรับ ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 180 – 250 มม. หางยาวประมาณ 150 – 220 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 35 – 40 มม. หูยาวประมาณ 17 – 23 มม.

ลักษณะรูปร่าง ลักษณะขนหยาบมีสีน้ำตาลปนเทา ห้องสีเทา ส่วนจมูกทู่ ใบหูเล็ก ตาเล็ก หางสั้นมี 2 สี ด้านบนสีดำ ด้านล่างสีจาง มีเกล็ดหยาบๆ ที่หาง และด้านบนของตีนหลังมีสีขาว มีเต้านมรวม 6 คู่ อยู่ที่อก 3 คู่ ท้อง 3 คู่

ถิ่นที่อยู่อาศัย มักอยู่ตามรู ตามท่อระบายน้ำโสโครก ท่อน้ำ ใต้ถุนตึกหรือบ้านเรือน บริเวณลำคลอง กองขยะมูลฝอย ไม่ชอบขึ้นที่สูง กินอาหารบูดเน่า พวกแป้ง ผัก เนื้อ และปลา

การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละ 4 – 7 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 8 –12 ตัว

ระยะทางการหากิน 100 – 150 ฟุต

ลักษณะมูลหนู มีขนาดใหญ่คล้ายแคปซูลยาวประมาณ 3-4 นิ้วลักษณะมูล หนู มีขนาดใหญ่คล้ายแคปซูลยาวประมาณ 3-4 นิ้ว

หนูท้องขาว (Rattus Rattus)

บางครั้งเรียก หนู หลังคา (Roof Rat) เป็นหนูตระกูล Rattus ที่มีขนาดใหญ่ปานกลางรูปร่างเพรียว มีน้ำหนักตัว 90-250 กรัม บางตัวอาจมีน้ำหนัก 360 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 182 มม. หางยาวประมาณ 188 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 33 มม. ความยาวใบหูประมาณ 23 มม. มีเต้านมรวม 5-6 คู่ อยู่ที่อก 2 คู่ที่ท้อง 3 คู่

ลักษณะรูปร่าง ขนด้านหลังมีสีน้ำตาล (ฐานขนสีเทาปลายสีน้ำตาล) ไม่มีขนคล้ายหนาม (Spine) ขนส่วนท้องมีสีขาวปนเทาหรือเหลืองครีม จมูกแหลม ตาโปน มีขนาดหูใหญ่ หางมีสีดำและมีเกล็ดละเอียดตลอดหาง ความยาวของหางมากกว่าความยาวของลำตัว

ถิ่นที่อยู่อาศัย ชอบอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือน หลังคาบ้าน บริเวณกันสาดใต้หลังคา ถ้าบริเวณรอบบ้านมีต้นไม้ แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ใกล้เคียงอาจพบหนูท้องขาวและรังอยู่บนต้นไม้นั้นด้วย มีความสามารถในการปีนป่ายเก่งกินอาหารทุกชนิด อาหารที่ชอบมากคือ เมล็ดพืช เช่น ข้าวเปลือก ถั่วข้าวโพด

การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละ 4-6 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 6-8 ตัว

ระยะทางหากิน 100-150 ฟุต

ลักษณะมูล เป็นรูปกระสวย ปลายแหลม ขนาดความยาวไม่เกิน1-2 นิ้ว

หนูจี๊ด (Rattus Exulans)

เป็นตระกูลของ Rattus ที่มีขนาดเล็ก แต่ตัวโตกว่าหนูหริ่ง น้ำหนักตัวประมาณ 36 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 115 มม. หางยาวประมาณ 128 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 23 มม. ความยาวหูประมาณ 16 มม. มีเต้านมรวม 4 คู่ อยู่ที่หน้าอก 2 คู่ ที่ท้อง 2 คู่

ลักษณะรูปร่าง รูปร่างเพรียว จมูกแหลม ตาโต หูใหญ่ ขนด้านหลังสีน้ำตาลมีลักษณะอ่อนนุ่ม มีขนแข็ง (Spine) ขึ้นแซมบ้างเล็กน้อย ขนด้านท้องสีเทา ผิวหางเรียบไม่มีเกล็ดมีสีดำตลอด

ถิ่นที่อยู่อาศัย ตามบ้านเรือน ชอบที่สูงตามซอกมุมที่ลับตาอาคาร บนเพดาน และมีความสามารถในการปีนป่ายเก่งเหมือนหนูท้องขาว

การแพร่พันธุ์ ตัวเมียออกลูกครั้งละ 8 – 12 ตัว

ระยะทางหากิน 20 – 50 ฟุต เวลาออกหากินกลางคืนจะส่งเสียงร้องจี๊ดๆ ให้ได้ยิน

หนูหริ่ง (Mus Musculus)

หรือบางครั้งเรียกว่า House Mouse เป็นหนูในตระกูล Mus ชนิดที่พบเห็นตามบ้านเรือนมาก เป็นหนูบ้านที่มีขนาดเล็กที่สุด มีน้ำหนักตัวเพียง 10 – 15 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 74 มม. หางยาวประมาณ 79 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 16 มม. ใบหูยาวประมาณ 12มม. มีเต้านมรวม 5 คู่ อยู่ที่อก 3 คู่ และที่ท้อง 2 คู่

ลักษณะรูปร่าง จมูกแหลม ขนด้านหลังสีเทาบางทีมีสีน้ำตาลปน มีลักษณะอ่อนนุ่ม ขนด้านท้องสีขาว ส่วนหางมี 2 สีด้านบนสีดำ ส่วนด้านล่างสีจางกว่า

ถิ่นที่อยู่อาศัย ตามบ้านเรือน มักชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามตู้ โต๊ะ ที่เก็บของ ตามช่อง ฝาผนัง ตามครัว กินอาหารได้ทุกชนิด แต่ชอบพวกเมล็ดพืช

การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละประมาณ 8 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 5 – 6 ตัว

ระยะทางการหากิน 10 – 30 ฟุต

ลักษณะมูลหนู ขนาดเล็กกลมยาวปลายแหลมยาวประมาณ 1/8 นิ้ว

ชีววิทยาและพฤติกรรมของหนู

การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตหนู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความสามารถในการผสมพันธุ์ และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จากการศึกษาสำรวจพบว่า พวกหนูนอร์เวย์ และหนูท้องขาวสามารถมีลูกได้ครั้งแรกอายุประมาณ 3 – 5 เดือน เมื่อผสมแล้วจะตั้งท้องเพียง 21 – 22 วัน สำหรับหนูมีลูกติดๆ กันไม่หยุดในท้องหลังๆ อาจตั้งท้องนาน 23 – 29 วัน ส่วนในหนูหริ่งนั้น หลังผสมพันธุ์อาจตั้งท้องประมาณ 19 วัน ภายใน 48 ชั่วโมง หลังคลอด ความยืนยาวของชีวิตหนูแต่ละชนิดไม่เท่ากน แต่ไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น หนูท้องขาวอาจจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 2ปี

พฤติกรรมของหนู

การเป็นอยู่ทั่วๆ ไป หนูมีความสามารถในการเรียนรู้ คุ้นเคยและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้ดี การเป็นอยู่ในรังจะมีหัวหน้า ทำหน้าที่ออกสำรวจหาอาหาร หนูตัวเมียถ้ามีลูกโตพอสมควรมันจะพาลูก ๆ ออกไปหากินพร้อมๆ กัน และสอนให้ลูกๆ รู้จักหาอาหารโดยปลอดภัย ลูกหนูเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน แล้วมักแยกตัวมาอยู่อิสระในช่วงนี้หนูจะมีความรวดเร็วว่องไวในการเคลื่อนไหวและหากินมาก

การมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แปลกๆ

หนูมีความฉลาดเฉลียวในการสังเกตระมัดระวังต่อสิ่งแปลกปลอมที่ไม่คุ้นเคยต่างๆ รวมทั้งแสง เสียง อาหาร สภาวะแวดล้อมต่างๆ ดังนั้นการวางยาเบื่อหรือใช้เหยื่อล่อใส่ในกรงหนูจึงต้องระมัดระวังให้มีความพอเหมาะ เช่น การผสมยาเบื่อหนู ถ้าผสมข้นเกินไป กลิ่นแรงผิดสังเกตหนูจะไม่ยอมกินเหยื่อนั้น ต้องวางเหยื่อนั้นหลายๆ วัน จนหนูคุ้นเคยจึงผสมยาเบื่อให้หนูกิน หรือนำไปเป็นเหยื่อสำหรับล่อให้หนูมากิน

การว่ายน้ำ

หนูสามารถว่ายน้ำได้เก่งและสามารถดำน้ำได้นานถึง 2 นาที จึงทำให้มันมีความคล่องตัวในการออกหากินและหนีศัตรู หนูสามารถเข้าไปในอาคารได้ตามรางระบายน้ำหรืออาศัยอยู่ในท่อน้ำทิ้งที่ใหญ่ๆ ได้

การกระโดด

หนูมีความสามารถในการกระโดดดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดในแนวพื้นราบ ขึ้นสูงหรือลงข้างล่าง เช่น พวกหนูท้องขาว สามารถกระโดดจากระดับพื้นดินได้สูง 18 – 24 นิ้ว และถ้ามีทางวิ่งมันสามารถกระโดดได้สูงถึง 3 ฟุต ถ้ากระโดดในแนวราบมันไปได้ไกลถึง 8 ฟุต และถ้ากระโดดในแนวดิ่งมันสามารถกระโดดลงมาจากที่สูงถึง 15 ฟุตได้ โดยปลอดภัยทำให้มันมีความรวดเร็วว่องไวในการหลบหนีศัตรูได้ดีมาก

การปีนป่าย

หนูท้องขาว หนูหริ่ง หนูจี๊ด สามารถไต่ปีนป่ายท่อน้ำ ผนังฝาบ้าน ขอบริมหน้าต่าง ช่องลม ตู้กับข้าวได้ดี ทำให้สามารถขึ้นไปทำรังในที่สูงได้ แม้ผนังนั้นจะสูงชันก็สามารถปีนป่ายได้ดีและรวดเร็ว ส่วนหนูนอร์เวย์นั้นถึงแม้ไม่ชอบปีนป่าย แต่ถ้าจำเป็นมันก็สามารถปีนป่ายได้

การขุดโพรงรู

หนูบ้านทุกชนิดสามารถขุดรูหรือโพรงได้ เช่น พวก หนู นอร์เวย์สามารถขุดโพรงได้เก่ง ความยาวของโพรงที่ขุดประมาณ 3 ฟุต ความลึกของโพรงตามแนวดิ่งประมาณ 1 ฟุต ส่วนหนูท้องขาวและหนูหริ่งนั้นเก่งในทางปีนป่ายชอบทำรังเหนือพื้นดินบนบ้าน แต่ถ้าหากภายในบ้านไม่มีที่เหมาะสมสำหรับทำรัง และบริเวณพื้นดินรอบๆ บ้านหรือใต้ถุนบ้านไม่มีหนูนอร์เวย์ มันอาจจะขุดรูอยู่ก็ได้ และหนูหริ่งก็เช่นกัน ถ้ามันมีความจำเป็นและบริเวณนั้นๆ ไม่มีหนูที่ใหญ่กว่าอยู่มันจึงจะขุดรูและทำรังอยู่อาศัย

รังและที่พักอาศัยของหนู

หนูชนิดที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน มักจะสร้างรังในที่ซึ่งปลอดภัยและอยู่ใกล้ๆ กับแหล่งที่มีน้ำและอาหาร เป็นที่ซึ่งลับหูลับตา เงียบสงบและปราศจากการถูกรบกวน โดยปกติถ้าทำรังในบ้าน มักจะใช้วัสดุอ่อนๆ เช่น เศษกระดาษ เศษผ้า มาทำเป็นรังบางครั้งถ้าอากาศหนาวและมีลูกอ่อนมันจะสร้างหลังคาคลุมรังด้วย หนูบ้านบางชนิดเช่นหนูนอร์เวย์จะทำรังตามบริเวณบ้านด้วย โดยขุดรูตามใต้อาคาร หรือบ้านที่มันอาศัย จึงไม่ควรทิ้งของรกรุงรัง เศษกระดาษหรือเศษผ้าตามบริเวณรอบบ้านเพราะหนูจะนำไปสร้างรังที่อยู่อาศัยได้

นิสัยการกินอาหาร

หนูสามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด หนูมีช่วงเวลาออกหากินแตกต่างกันในแต่ละชนิด แต่เมื่อพบอาหารแล้วมักจะพยายามคาบไปซ่อนไว้ ถ้าอาหารเป็นชิ้นใหญ่มันจะใช้เวลาคาบหรือชักลากไป แต่ถ้าชิ้นอาหารเล็กมากมันจะกินตรงบริเวณนั้นไม่นำกลับ การกินอาหารใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมักเป็นในลักษณะชิม เพื่อทดสอบว่าอาหารนั้นเป็นพิษสำหรับมันหรือไม่

การแทะ

เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของหนูที่ฟันคู่หน้าของมันมีลักษณะแข็งพอเหมาะและสามารถงอกยื่นยาวออกไปได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ประมาณปีละ 5 นิ้ว ดังนั้นหนูจึงมีความจำเป็นต้องกัดแทะอยู่เสมอ เพื่อลับฟันให้คมและมีขนาดสั้นพอเหมาะ โดยทั่วไปหนูจะเริ่มแทะเป็นตั้งแต่มีอายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์

ประสาทความรู้สึก

หนูทุกชนิดมีประสาทความรู้สึกไวมาก ทำให้ยากต่อการควบคุมกำจัดให้ได้ผล

การสัมผัส

หนูมีเครา และขน ซึ่งมีความยาวกว่าขนธรรมดาและขึ้นกระจายอยู่ทั่วๆ ไปเป็นประสาทสัมผัสที่ดีมาก โดยในเวลากลางคืนที่มันวิ่งออกหากิน มันจะวิ่งไปตามทางข้างๆ ผนัง โดยมีเคราและขนดังกล่าว จะสัมผัสกับผนังห้อง

การเห็น

หนูมีระบบประสาทมองไม่ดี มองเห็นได้ไม่ไกลและตาบอดสี เห็นเฉพาะสีขาวดำ ฉะนั้นจึงมองเห็นในเวลากลางคืนดีกว่ากลางวัน

การรู้รส

ของหนูไม่ดีเท่าคน ไม่สามารถแยกรสชาติอาหารได้เท่าคน แต่มีบ่อยครั้งที่หนูมีการเข็ดเหยื่อเพราะหนูมีความฉลาดและระมัดระวังตัวดี กินอาหารอะไรที่ไม่คุ้นเคยมักกินแบบชิมๆ เมื่อได้รับยาเบื่อในขนาดไม่สูงพอที่จะให้หนูตาย เมื่อยาเบื่อเข้าไปในกระเพาะจะไปทำให้หนูเจ็บและเกิดการเรียนรู้และเข็ดเหยื่อ

การได้ยิน

หนูได้ยินเสียงในระยะเพียงประมาณ 6 นิ้วเท่านั้น

การทรงตัว

หนูทุกชนิดมีการทรงตัวดีมากมาตั้งแต่กำเนิด ถึงแม้หนูที่ปีนป่ายที่สูงจะตกหล่นลงมายังพื้นไม่ว่าในลักษณะท่าใดเมื่อหล่นถึงพื้น เท้าทั้งสี่ของหนูจะลงพื้นก่อนเสมอทำให้หนูไม่เป็นอันตรายและในท่าที่ลงพื้นนี้ หนูก็พร้อมที่จะวิ่งได้ต่อไปทันที

หนูพุกใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bandicota indica  (Beckstein)  วงศ์ :   Muridae อันดับย่อย :  Myomorpha    อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น :  หนูแผง

          หนูพุกใหญ่ (The great bandicoot) มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวเต็มวัยหนัก 200-800 กรัม ส่วนมากพบหนักประมาณ 600 กรัม  หน้าสั้น ขนตามลำตัวส่วนหลังมีสีดำ บริเวณด้านหลังช่วงท้ายทอยมีแผงขนสีดำ (ภาพที่ 1) และจะตั้งขึ้นเห็นได้ชัดเมื่อตกใจ  เกษตรกรรู้จักในชื่อ “หนูแผง” เสียงขู่ร้องดังมากในลำคอ ตีนหลังมีสีดำและยาวมากกว่า 50 มิลลิเมตร  เพศเมีย มีเต้านมที่อก 3 คู่  ที่ท้อง 3 คู่  ขุยดินที่กองหน้าปากรูทางเข้ามีขนาดใหญ่

ความสำคัญ พบทั่วประเทศ เป็นศัตรูพืชเศรษฐกิจ และเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น  ฮันต้าไวรัส (Hantaan virus)  มิวรีนไทฟัส (murine typhus)  เลปโตสไปโรซีส (leptospirosis) เป็นต้น ทำลายข้าวตั้งแต่ระยะปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว  ชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามดงหญ้าคา  จอมปลวก  คันนาหรือคันคูคลองส่งน้ำ

  

หนูพุกเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bandicota savilei  (Thomas)    วงศ์ : Muridae      อันดับย่อย : Myomorpha     อันดับ : Rodentia    ชื่อสามัญอื่น : -

  หนูพุกเล็ก (lesser bandicoot) ลักษณะทั่วๆ ไปคล้ายหนูพุกใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักประมาณ 200 กรัม ขนตามลำตัวส่วนหลังสีเทาเข้ม ส่วนด้านท้องสีเทาอ่อน บางครั้งมีขนสีขาวขึ้นแซม ปกติหางมีสีเดียวกันตลอดหาง (ภาพที่ 1) บางท้องที่จะพบปลายหางเป็นสีขาว ตีนหลังจะมีความยาวน้อยกว่า 50 มิลลิเมตร พบทุกภาค มีเสียงร้องขู่เบาๆ ดังน้อยกว่าหนูพุกใหญ่ ขุดรูอาศัยในคันดินหรือตามคันคูคลอง  และมีกองขุยดินที่ปากรู

ความสำคัญ พบมากทางภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เป็นศัตรูพืชเศรษฐกิจ และเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันกับหนูพุกใหญ่ กัดแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก ไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว

 

หนูนาใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus argentiventer  (Robinson and Kloss)  วงศ์ : Muridae อันดับย่อย : Myomorpha อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น :   หนูนาท้องขาว  หนูฝ้าย

           หนูนาใหญ่ (ricefield rat) ตัวเต็มวัยมีน้ำหนัก 100 –250 กรัม หางสั้นกว่าหรือเท่ากับความยาวหัวและลำตัวรวมกัน หางมีสีดำตลอด ขนด้านท้องมีสีเงินออกขาว (ภาพที่ 1) ในหนูที่ยังโตไม่เต็มวัย จะมีขนสีส้มกลุ่มเล็กๆที่โคนหู เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้องด้านล่าง ตาและใบหูเล็ก ขุดรูอาศัยตามคันนา  หรือคันคูคลอง  หรือที่ที่มีวัชพืชขึ้นปกคลุม มีกองขุยดินที่ปากรู

ความสำคัญ          เป็นศัตรูของการปลูกข้าวในภาคกลาง และยังเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสำคัญสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น กาฬโรค (plague)  เลปโตสไปโรซีส (leptospirosis) สครับไทฟัส (scrub typhus)  กัดแทะทำลายข้าว และพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากหนูกัดแทะเป็นอาหารและลับฟันแทะ

  

หนูนาเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus losea (Swinhoe)    วงศ์ : Muridae อันดับย่อย : Myomorpha อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น : หนูนาท้องขาว  หนูฝ้าย

หนูนาเล็ก (lesser ricefield rat) มีขนาดเล็กกว่าหนูนาใหญ่ ตัวโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 77- 100 กรัม ขนลำตัวส่วนหลังและตีนหลังมีสีน้ำตาลคล้ำหรือปนดำ นุ่มและไม่มีขนแข็งแทรก หางสั้นกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ขนส่วนท้องมีสีเทาอ่อน เพศเมียมีนม 2 คู่ ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้อง ตาและใบหูเล็ก (ภาพที่ 1) ขุดรูอาศัยตามคันนา และแปลงปลูกพืช

ความสำคัญ  เป็นศัตรูที่สำคัญของข้าว ธัญพืชเมืองหนาว พบทุกภาคของประเทศแต่พบมากในภาคกลาง ภาคเหนือ

และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสำคัญสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น กาฬโรค (plague)
เลปโตสไปโรซีส (leptospirosis) สครับไทฟัส (scrub typhus)  กัดแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก  จนถึงระยะเก็บเกี่ยว  ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากหนูกัดแทะเป็นอาหารและลับฟันแทะ

  

หนูท้องขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus rattus  (Linnaeus)  วงศ์ : Muridae     อันดับย่อย : Myomorpha    อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น : หนูท้องขาวบ้าน  หนูหลังคา  หนูเรือ

           หนูท้องขาว (roof rat, ship rat) มีลักษณะหางยาวกว่าความยาวหัวและรวมกับลำตัว  ปีนป่ายได้คล่องแคล่ว

มีความหลากหลายในเรื่องของสีขน ขนด้านท้องสีขาวหรือสีครีม ตาโตและใบหูใหญ่  (ภาพที่ 1) เพศเมียมีเต้านม
2 คู่ ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้อง (บางแห่ง เพศเมียมีเต้านม 2 คู่ ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้อง) อาศัยบนต้นไม้  ป่าหญ้า หรือใต้เพดานของอาคาร ถ้าขุดรูลงในดินมักไม่มีกองขุยดินที่ปากรู หรือถ้ามีจะมีน้อยมาก

ความสำคัญ พบทั่วประเทศ เป็นศัตรูของพืชเศรษฐกิจ และยังเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น  

กาฬโรค (plague)  สครับไทฟัส (srrub typhus)  มิวรีนไทฟัส (murine typhus)ฯลฯ กัดแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก ไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว  สำหรับไม้ยืนต้นอื่น ๆ จะกัดแทะเปลือกลำต้นหรือกิ่ง และส่วนผล

  

หนูหริ่งนาหางยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mus caroli  (Bonhote)  วงศ์ :   Muridae อันดับย่อย :  Myomorpha    อันดับ : Rodentia

ชื่ออื่นๆ  : -

           หนูหริ่งนาหางยาว (Ryuku mouse) ฟันแทะ คู่บนจะตั้งฉากกับ palate สีผิวด้านหน้าของฟันแทะคู่บนมีสีแทน หรือน้ำตาลเข้ม มากกว่าหนูหริ่งชนิดอื่นๆ ส่วนฟันแทะคู่ล่างมีสีขาว จมูกสั้น จึงทำให้ส่วนหน้าทู่ หางยาวกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน และมี 2 สีชัดเจน คือ สีด้านบนของหางจะมีสีดำ ด้านล่างมีสีขาว ตีนหลังใหญ่และมีสีเทา (ภาพที่ 1) ปีนป่ายได้ดีกว่าหนูหริ่งนาหางสั้น  ขุดรูอาศัยตามคันนา หรือที่มีหญ้ารก

ความสำคัญ พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในประเทศไทย พบเป็นศัตรูสำคัญของข้าว และธัญพืชเมืองหนาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด ในยุโรปพบอยู่อาศัยตามบ้านเรือนในเขตชุมชน ในออสเตรเลียพบระบาดมากในไร่ข้าวสาลี และธัญพืช เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของการผลิตธัญพืชต่างๆ

 

หนูหริ่งนาหางสั้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Mus cervicolor (Hodgson)   วงศ์ :   Muridae   อันดับย่อย :  Myomorpha     อันดับ : Rodentia

ชื่ออื่นๆ  -

          หนูหริ่งนาหางสั้น (fawn-colored mouse) ฟันแทะคู่บนจะโค้งงอเข้าด้านใน และไม่ตั้งฉากกับเพดานปาก สีของฟันแทะคู่ล่างขาวหรือคล้ำกว่าสีฟันแทะของหนูหริ่งนาหางยาว สีผิวด้านหน้าของฟันแทะคล้ายกับหนูหริ่งนาหางยาว แต่อ่อนกว่ามาก จมูกยาวกว่า ทำให้ส่วนหน้าแหลม ตีนหลังขาว หางมี 2 สี แต่อ่อนกว่าหนูหริ่งนาหางยาว และหางสั้นกว่าความยาวส่วนหัวและลำตัวรวมกัน (ภาพที่ 1)

ความสำคัญ ในประเทศไทยพบเป็นศัตรูสำคัญของข้าว ธัญพืชเมืองหนาว และพืชไร่ เขตแพร่ กระจาย และความสำคัญในทางเกษตร เช่นกันกับหนูหริ่งนาหางยาว

 

Visitors: 517,557